13. กระบวนการทำงานของจิต

หน่วยที่ 13 กระบวนการทำงานของจิต
13.1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอารมณ์
13.1.1 ความหมายของอารมณ์
– อารมณ์ ในหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรมชาติที่จิตเข้าไปรู้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัสทางกาย และความนึกคิดต่าง ๆ (ธัมมารมณ์) โดยผ่านทวารทั้ง 6
– การรู้อารมณ์ของจิต มี 3 แบบ คือ รู้แบบวิญญาณรู้ รู้แบบสัญญารู้ และรู้แบบปัญญารู้
o การรู้แบบวิญญาณรู้ เป็นการรู้อารมณ์ตามทวารต่าง ๆ 6 ทวาร ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
o การรู้แบบสัญญารู้ เป็นการรู้อารมณ์โดยอาศัยการกำหนดจดจำไว้ เช่น ลักษณะทรวดทรง สี สัณฐานต่าง ๆ ตลอดจนชื่อเรียกและสมมุติบัญญัติต่าง ๆ
o การรู้แบบปัญญารู้ เป็นการรู้ตามความเป็นจริง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเพื่อทำลายความเห็นผิด
– ความแตกต่างระหว่างการรู้อารมณ์ของมนุษย์และสัตว์ คือ สัตว์มีการรู้อารมณ์ได้ 2 แบบ คือ รู้แบบวิญญาณรู้และรู้แบบสัญญารู้ แต่มนุษย์สามารถรู้อารมณ์ได้ 3 แบบ คือ รู้แบบวิญญาณรู้ รู้แบบสัญญารู้ และรู้แบบปัญญารู้

13.1.2 ประเภทของอารมณ์
– อารมณ์แบ่งตามการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 ได้ 6 ประเภท ได้แก่
o รูปารมณ์ – รูปเป็นอารมณ์ ได้แก่ วัณณรูป คือสีต่าง ๆ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางทวารตา
o สัททารมณ์ – มีเสียงเป็นอารมณ์ ได้แก่ สัททรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางทวารหู
o คันธารมณ์ – มีกลิ่นเป็นอารมณ์ ได้แก่ คันธรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางทวารจมูก
o รสารมณ์ – มีรสเป็นอารมณ์ ได้แก่ รสรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางทวารลิ้น
o โผฏฐัพพารมณ์ – มีการกระทบถูกต้องทางกายเป็นอารมณ์ ได้แก่ ความเย็น-ร้อน ความอ่อน-แข็ง ความหย่อน-ตึง อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางทวารกาย
o ธัมมารมณ์ – สภาพธรรมที่รู้ได้เฉพาะมโนทวารหรือทางใจ ได้แก่ จิต เจตสิก ปสาทรูป 5 สุขุมรูป 16 นิพพาน และบัญญัติ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางใจ
– อารมณ์แบ่งตามสภาพการรู้อารมณ์ของจิตได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
o กามอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่น่าปรารถนา
o มหัคคตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่สงบ
o โลกุตตรอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์พระนิพพาน
o บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่สมมุติเรียกกล่าวขาน เช่น ภาษาพูด ตัวหนังสือ
– อารมณ์แบ่งตามกำลังของอารมณ์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
o สามัญอารมณ์ คือ อารมณ์ 6 ชนิดที่เป็นธรรมดาสามัญทั่วไป
o อธิบดีอารมณ์ เป็นอารมณ์ชนิดพิเศษ มีกำลังอำนาจแรงมาก สามารถทำให้จิตและเจตสิกเข้ายึดอารมณ์นั้นไว้ อารมณ์ที่เป็นอธิบดีต้องเป็นอารมณ์ที่น่ายินดีหรือน่าปรารถนา คือ อิฏฐารมณ์ ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ สภาวอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่ายินดีของบุคคลทั่วไป โดยสภาพธรรมชาติ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ปริกัปปอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่ายินดีเฉพาะบุคคล ไม่ใช่อารมณ์ที่น่ายินดีตามธรรมชาติ)
– ความเป็นไปแห่งอารมณ์ จะเกิดขึ้นได้ จิตต้องอาศัยทวาร แต่ก็มีจิตบางประเภทที่ทำหน้าที่รับอารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวาร ได้แก่ จิต 3 ดวง คือ จุติจิต (จิตที่ทำหน้าที่ตาย) ปฏิสนธิจิต (จิตที่ทำหน้าที่เกิด) และ ภวังคจิต (จิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติ)

13.1.3 ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับจิต
– อารมณ์กับจิตแบ่งตามลักษณะความสัมพันธ์ได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ อารมณ์ 6 กับทวาร และอารมณ์กับการรู้ของจิต
– อารมณ์ 6 กับทวาร จิตและเจตสิกจะรู้อารมณ์ 6 อัน ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัสกาย (ร้อน เย็น แข็ง อ่อน หย่อน ตึง) และอารมณ์ทางใจ (ความรู้สึกนึกคิด) ได้ ต้องอาศัยทวารซึ่งเป็นเสมือนประตูที่ใช้เป็นทางเข้าออกของวิถีจิตให้เกิดการงานรู้อารมณ์ขึ้นมาได้ เช่น จักขุปสาททำหน้าที่เป็นจักขุทวาร คือ เป็นทางให้รูปกระทบกับประสาทตา จึงเกิดจักขุวิญญาณคือ จิตที่เห็นขึ้น ทางทวารอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน
– อารมณ์กับการรู้ของจิต อารมณ์เปรียบเหมือนความรู้ที่ผูกพันกับจิต ไม่ว่าจะเป็นการรู้ด้วยจิตรู้หรือวิญญาณรู้ การรู้ด้วยสัญญารู้ และการรู้ด้วยปัญญารู้ เมื่อสิ่งกระทบกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ย่อมเกิดการรู้จำเพาะในสิ่งที่มาปรากฏทางทวารต่าง ๆ การรู้เช่นนี้จัดเป็นวิญญาณรู้หรือจิตรู้ หากมีการปรุงแต่งทางใจ มีการจำได้ ย่อมเกิดการรู้ที่จัดเป็นสัญญารู้ เมื่อมีการพัฒนาความรู้ไปในทางที่ดีงามและถูกต้องตามหลักธรรมชาติ ย่อมทำให้เกิดความรู้ในระดับปัญญารู้ได้

13.2 วิถีจิต: กระบวนการทำงานของจิต
13.2.1 ความหมายและประเภทของวิถีจิต
– วิถีจิต หมายถึง กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดขึ้นสืบต่อกันเป็นลำดับ นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของอารมณ์หรือสิ่งเร้า ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ อารมณ์เหล่านี้เมื่อกระทบกับทวารซึ่งได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้เกิดกระบวนการทำงานของจิตเพื่อรับรู้อารมณ์
– หน้าที่ของจิต เรียกว่า กิจ มี 14 อย่างคือ ปฏิสนธกิจ (จิตทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่) ภวังคกิจ (จิตทำหน้าที่รักษาภพชาติ) อาวัชชนกิจ (จิตทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่) ทัสสนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่เห็น) สวนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่ได้ยิน) ฆายนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่น) สายนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่รู้รส) ผุสนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่รู้สัมผัส) สัมปฏิจฉนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ 5) สันยตีรณกิจ (จิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์) โวฏฐัพพนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์) ชวนกิจ (จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์) ตทาลัมพณกิจ (จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากชวนะ) จุติกิจ (จิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดของชีวิต)
– ธรรมชาติของการเกิดดับของจิต จิตเป็นนามธรรมที่เกิดดับเร็วที่สุด ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นการดับนี้ได้
– กระบวนการทำงานของจิต จำแนกได้เป็น 2 ประการ ดังนี้
o การงานที่จิตทำ ได้แก่ การที่จิตขึ้นรับอารณ์ต่าง ๆ จากทางทวารทั้ง 6
o จิตที่เป็นภวังค์ ได้แก่ จิตที่ไม่ได้ขึ้นวิถีเพื่อรับอารมณ์ต่าง ๆ จากทวารทั้ง 6 แต่เป็นจิตที่อยู่สภาพใต้สำนึก หรือ อยู่ในกระแสภวังค์ และมีอารณ์เป็นเฉพาะที่เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ติดมาตั้งแต่ปฏิสนธิ
– ประเภทของวิถีจิต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กามวิถีและอัปปนาวิถี
o กามวิถี หมายถึง จิตที่ปรากฏขึ้นเพื่อรับอารมณ์ทั้ง 6 ที่เกี่ยวกับกามธรรม คือ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กามชวนปัญจทวารวิถี หรือ ปัญจทวารวิถี (วิถีจิตที่ปรากฏขึ้นรับอารมณ์ทั้ง 5 โดยเกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น) กามชวนมโนทวารวิถี หรือ มโนทวารวิถี (วิถีจิตที่ปรากฏขึ้นรับอารมณ์ทั้ง 6 โดยไม่จำกัดว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตหรือกาลวิมุตติ คือ พ้นจากอดีต ปัจจุบัน อนาคต)
o อัปปนาวิถี หมายถึง จิตที่เข้าถึงความแนบแน่นกับอารมณ์ และเป็นไปกับการทำลายกิเลส คำว่า อัปปนา แปลว่า ทำลาย หมายถึง ทำลายกิเลส ได้แก่ นิวรณ์ธรรม โดยอัปปนาวิถี แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โลกียอัปปนาวิถี (วิถีจิตของบุคคลผุ้ปฏิบัติกรรมฐาน) และโลกุตตรอัปปนาวิถี (วิถีจิตของบุคคลผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันแก่กล้า)

13.2.2 วิถีทางปัญจทวาร
– วิถีจิตทางปัญจทวาร หมายถึง วิถีจิตที่ปรากฏขึ้นเพื่อรับอารมณ์ 5 ประเภทที่มาปรากฏทางทวารทั้ง 5 โดยมีสภาพอารมณ์ที่กำลังเกิดในปัจจุบันเท่านั้น แบ่งเป็น 5 วิถี ได้แก่ จักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี และกายทวารวิถี
– วิถีจิตจะเกิดขึ้นตามลำดับความเป็นไปของวิถีจิต รวม 17 ขณะ
– เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิถีจิตทางปัญจทวาร
o จักขุทวารวิถี อาศัยธรรม 4 ประการ ได้แก่ จักขุปสาท (มีประสาทตาดี) รูปารมณ์ (มีวัตถุสิ่งของที่มองเห็น) อาโลก (มีแสงสว่าง) มนสิการ (มีความใส่ใจต่อการดู)
o โสตทวารวิถี อาศัยธรรม 4 ประการ ได้แก่ โสตปสาท (มีประสาทหูดี) สัททารมณ์ (มีเสียงมาปรากฏ) อากาศ (มีช่องว่างของหู) มนสิการ (มีความใส่ใจต่อการฟัง)
o ฆานทวารวิถี อาศัยธรรม 4 ประการ ได้แก่ ฆานปสาท (มีประสาทจมูกดี) คันธารมณ์ (มีกลิ่นมาปรากฏ) วาโย (มีลม) มนสิการ (มีความใส่ใจต่อการรับรู้กลิ่น)
o ชิวหาทวารวิถี อาศัยธรรม 4 ประการ ได้แก่ ชิวหาปสาท (มีประสาทลิ้นดี) รสารมณ์ (มีรสมาปรากฏ) อาโป (มีน้ำ) มนสิการ (มีความใส่ใจต่อการรับรู้รส)
o กายทวารวิถี อาศัยธรรม 4 ประการ ได้แก่ กายปสาท (มีกายประสาทดี) โผฏฐัพพารมณ์ (มีผัสสะต่าง ๆ ได้แก่ เย็น ร้อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกาย) ถัทธ (มีปถวี) มนสิการ (มีความใส่ใจในการรับรู้อารมณ์)
– สิ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีจิตในการรับรู้อารมณ์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่
o อัธยาศัยของแต่ละบุคคล ได้แก่ ผู้นั้นมีอัธยาศัยยินดีหรือพอใจในประเภทอารมณ์ต่าง ๆ
o ความแรงของอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์นั้นมีความเด่นชัดหรือมีกำลัง ก็จะทำให้วิถีจิตตามสภาพของอารมณ์ที่ปรากฏตามทวารต่าง ๆ
– ความเป็นไปของอารมณ์ในปัญจทวารวิถีแบ่งตามความแรงของอารมณ์ได้ 4 ประการ คือ อติมหันตารมณ์ (มีกำลังแรงมากที่สุด) มหันตารมณ์ (มีกำลังแรง) ปริตรตารมณ์ (มีกำลังอ่อน) และอติปริตรตารมณ์ (มีกำลังอ่อนมากที่สุด)

13.2.3 วิถีจิตทางมโนทวาร
– วิถีจิตทางมโนทวาร แบ่งได้ 2 ประเภท คือ กามชวนมโนทวารวิถี และ อัปปนาชวนะมโนทวาร
– กามชวนมโนทวารวิถี หมายถึง วิถีจิตที่เกิดทางใจในกามวิถีที่มีอารมณ์เป็นกามธรรม รวมทั้งสภาพธรรมที่เรียกว่าโลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
o ลักษณะอารมณ์ทีเกิดทางกามชวนมโนทวารวิถี แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อติวิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ปรากฏทางใจชัดมากที่สุด) วิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ปรากฏชัดทางใจ) อวิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่ปรากฏชัดทางใจ) อติอวิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่ปรากฏชัดทางใจเลย
o กามชวนมโนทวารวิถีที่เกิดทางใจในรูปของอารมณ์ 6 มี 2 ลักษณะ คือ อารมณ์ 6 ที่ปรากฏทางใจโดยตรง และ อารมณ์ 6 ที่ปรากฏทางใจโดยเกิดต่อเนื่องจากวิถีจิตทางปัญจทวาร
– อัปปนาชวนมโนทวารวิถี หมายถึง วิถีจิตที่รับอารมณ์ละเอียด และแนบแน่ในอารมณ์นั้น ๆ เป็นวิถีจิตที่พิเศษและมีอำนาจ ซึ่งเกิดได้เฉพาะทางใจเท่านั้น อัปปนาวิถีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โลกียอัปปนาวิถี และโลกุตตรอัปปนาวิถี

13.2.4 การประยุกต์วิถีจิตในการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย
– ผู้ป่วยใกล้ตาย หมายถึง ผู้ที่มีอาการแสดงต่าง ๆ ที่เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน
– ความตาย ในความหมายทั่วไป หมายถึง การสิ้นสุดของชีวิต ในหลักพระพุทธศาสนา กล่าวถึงความตายเป็น 2 ประการ ได้แก่ กาลมรณะ (ถึงเวลาที่จะต้องตาย) อกาลมรณะ (ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตาย)
– มรณุปปัตติ มาจากคำว่า มรณะ + อุปปัตติ คำว่า มรณะ แปลว่า ตาย และ อุปัตติ แปลว่า ความเกิดขึ้น ดังนั้น มรณุปปัตติ หมายถึง ความตายและการเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงมรณุปปัตติ ไว้ 4 ประการ คือ
o อายุกขยะมรณะ ตายโดยสิ้นอายุ
o กัมมักขยมรณะ ตายโดยสิ้นกรรม
o อุภยักขยะมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและกรรม
o อุปัจเฉทกมรณะ ตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ หรือมีกรรมมาตัดรอนทั้ง ๆ ที่ยังไม่สิ้นอายุขัยหรือสิ้นกรรม
– อารมณ์และวิถีจิตเมื่อเวลาใกล้ตาย แยกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ มรณาสันนกาล และ มรณาสันนวิถี
o มรณาสันนกาล หมายถึง เวลาใกล้จะตาย ในระยะนี้ผู้ที่ใกล้จะตาย ย่อมมีอารมณ์มาปรากฏอยู่เสมอไม่ว่าทวารใดทวารหนึ่ง โดยอำนาจกรรมที่จะส่งผลได้ตามลำดับ มี 4 ประเภท คือ กรรมหนัก (คุรกรรม) กรรมที่กระทำในเวลาใกล้ตาย หรือระลึกได้ใกล้ตาย (อาสันนกรรม) กรรมที่เคยทำเป็นประจำ หรือทำจนเคยชิน (อาจิณณกรรม) และกรรมที่กระทำมาอย่างไม่ตั้งใจ หรือกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ (กตัตตากรรม)
o มรณาสันนวิถี หมายถึง วิถีจิตสุดท้ายที่ใกล้จะตาย เมื่อวิถีจิตนี้เกิดขึ้นแล้วจะไม่มีวิถีจิตอื่น ๆ เกิดขึ้นคั่นระหว่างจุติจิตเลย มรณาสันนวิถี แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ มรณาสันนวิถีทางปัญจทวาร คือ วิถีจิตของบุคคลทั้งหลายเมื่อใกล้จะตายที่มีอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏทางทวารทั้ง 5 อย่างใดอย่างหนึ่ง และมรณาสันนวิถีทางมโนทวาร คือ วิถีจิตของบุคคลทั้งหลายเมื่อใกล้จะตายที่มีอารมณ์มาปรากฏทางใจ
– อารมณ์ของมรณาสันนวิถีหรือภาวะใกล้ตาย เมื่อใกล้ตายจะมีนิมิต 3 ประการเกิดขึ้น คือ กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ในทวารหนึ่งในจำนวนทวารทั้ง 6 ดังนี้
o กรรมอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่เกี่ยวกับกุศลและอกุศลมาปรากฏในขณะใกล้ตาย
o กรรมนิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสภาพที่รู้ได้ทางใจที่เกี่ยวกับการกระทำกุศลและอกุศล
o คตินิมิตอารมณ์ ได้แก่ นิมิตเครื่องหมายอารมณ์ที่จะนำไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือภพภูมิที่ไม่ดี โดยปรากฏได้ในทวารทั้ง 6 แต่ส่วนมากเห็นทางตา (จักขุทวาร) กับทางใจ (มโนทวาร)
– ลักษณะอาการที่แสดงภาวะใกล้ตาย ทางการแพทย์ได้สรุปอาการที่แสดงว่าผู้ป่วยใกล้ตายไว้ดังนี้
o อุณหภูมิของร่างกายจะสูงกว่าปกติ ผิวหนังเย็นชื้น หน้าซีด ชีพจรไม่สม่ำเสมอ
o การหายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ และหายใจมีเสียงดัง
o ความดันโลหิตต่ำลง การไหลเวียนในหลอดเลือดส่วนปลายจะเสียไป
o ระบบกล้ามเนื้อ ขากรรไกร และกล้ามเนื้อหน้าหย่อนตัวลง
o การรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ค่อย ๆ เสียไป
– แนวทางการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย
o ทางกาย ช่วยให้บุคคลนั้นมีความสบายทางกายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
o ทางจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่สงบเย็น มีความอบอุ่นใจ และเป็นสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต
o ทางอารมณ์ ช่วยปรับอารมณ์ในระหว่างที่มีความสับสน และเกิดความกลัว และเป็นการให้อารมณ์ใกล้ตายที่ดี
o ทางสังคม ช่วยลดความทุกข์ใจของญาติก่อนที่ผู้ป่วยจะสิ้นชีวิต และภายหลังความตาย

13.3 สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินอารมณ์
13.3.1 วิปลาส
– วิปลาส หมายถึง ความรู้ที่คลาดเคลื่อนไปจากสภาพแห่งความเป็นจริง ได้แก่ ความงาม (สุภะ) ความสุข (สุขะ) ความเที่ยง (นิจจะ) และเป็นตัวตน (อัตตะ) ทำให้ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดขวางบังตาไม่ให้มองเห็นสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งปวง
– สภาพความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งปวง ได้แก่
o สิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม เรียกว่า อสุภะ
o สิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่สุขไม่สบาย เรียกว่า ทุกขะ
o สิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เรียกว่า อนิจจัง
o สิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน หรือพึงบังคับบัญชาได้ เรียกว่า อนัตตา
– สิ่งที่ทำให้เกิดความวิปลาส ได้แก่
o สัญญาวิปลาส ได้แก่ ความวิปลาสทางความจำ หรือมีความรู้ผิดพลาด เช่น เห็นเชือกเป็นงู เห็นหุ่นฟางในท้องนาเป็นคน
o จิตตวิปลาส ได้แก่ ความวิปลาสทางจิต หรือความคิดผิดพลาด มีความเข้าใจผิด เช่น คนบ้าเอาหญ้ามากินเป็นอาหาร คนจิตฟั่นเฟือนเห็นคนเข้ามาคิดว่าเขาจะทำร้าย
o ทิฏฐิวิปลาส ได้แก่ ความวิปลาสทางเห็นผิดทางความเห็น ได้แก่ เห็นผิด หรือทัศนะที่ผิด เช่น การเห็นว่าโลกแบน สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีผู้สร้าง หรือมีผู้จัดแจง
– ความปรากฏแห่งความวิปลาสธรรม มี 4 ประการ ได้แก่ สุภวิปลาส สุขวิปลาส นิจจวิปลาส และอัตตวิปลาส
o สุภวิปลาส – เห็นสิ่งที่ไม่สวยงามว่าสวยงาม
o สุขวิลาส – เห็นในสิ่งที่ไม่สุขไม่สบายว่าสุขสบาย
o นิจจวิปลาส – เห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนว่าเที่ยง
o อัตตวิปลาส – เห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าตัวตน

13.3.2 กิเลส
– กิเลส หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หรือธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองหรือเร่าร้อนทั้งกายและใจ
– ลักษณะของกิเลส มี 3 ประการ ได้แก่ 1) ทำให้จิตเกิดความสกปรกหรือเศร้าหมอง 2) ทำให้เกิดความมืดมิด ไม่สว่างไสว และ 3) ทำให้เกิดความกระวนกระวาย ไม่มีความสงบ
– ประเภทของกิเลส
o แบ่งตามลักษณะ ได้ 10 ประเภท คือ โลภะ (เศร้าหมองเพราะความยินดี) โทสะ (เศร้าหมองเพราะความโกรธ) โมหะ (เศร้าหมองเพราะความโง ความหลง) มานะ (เศร้าหมองเพราะความเย่อหยิ่ง) ทิฏฐิ (เศร้าหมองเพราะความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (เศร้าหมองเพราะความลังเลสงสัย) ถีนะ (เศร้าหมองเพราะความหดหู่) อุทธัจจะ (เศร้าหมองเพราะความฟุ้งซ่าน) อหิริกะ (เศร้าหมองเพราะความไม่ละอายต่อบาปทุจริต) อโนตตัปปะ (เศร้าหมองเพราะไม่กลัวเกรงต่อบาปทุจริต)
o แบ่งตามสภาพกลุ่ม ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโลภะ (ความโลภ) กลุ่มโทสะ (ความโกรธ) และกลุ่มโมหะ (ความหลง) เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจ ย่อมเป็นเหตุให้จำผิด คิดผิด และตัดสินผิด เรียกว่า มีความวิปลาสเกิดขึ้น ได้แก่ จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส และสัญญาวิปลาส
o แบ่งตามอาการ ได้ 3 อาการ คือ
 กิเลสอย่างละเอียด หมายถึง กิเลสในขั้นที่นอนนิ่งอยู่ในสันดานอย่างเงียบ เรียกว่า อกุศลมูล มี 3 ชนิด คือ โลภะ โทสะ โมหะ และหากจำแนกเป็น กามราคะ ภาวราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อวิชชา รวม 7 อย่าง เรียกว่า อนุสัยกิเลส
 กิเลสอย่างกลาง หมายถึง กิเลสที่ทำให้จิตใจเกิดความเร่าร้อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ หมายถึง เครื่องกั้นจิตที่ทำให้จิตนั้นไม่สามารถบรรลุธรรมในขั้นสูง นิวรณ์ มี 5 อย่าง คือ ความพอใจรักใคร่ (กามฉันทะ) ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิทธะ) ความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจกุกกุจจะ) ความลังเลใจ (วิจิกิจฉา)
 กิเลสอย่างหยาบ ที่เรียกว่า วีติกมกิเลส หมายถึง กิเลสที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการกระทำผิดศีลหรือการกระทำที่เป็นทุจริตออกมาทางกายและวาจา ได้แก่ กายกรรมทุจริต 3 ประการ (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม) วจีทุจริต 4 ประการ (พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ และพูดคำหยาบ)
– การประหานกิเลส มี 3 ประเภท ดังนี้
o การประหานกิเลสอย่างหยาบ ต้องอาศัยศีล เรียกว่า ตทังคปหาน หมายถึงการประหานกิเลสเพียงชั่วคราวหรือบางขณะเท่านั้น
o การประหานกิเลสอย่างกลาง ต้องอาศัยสมาธิ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน หมายถึง การประหานกิเลสโดยการข่มไว้
o การประหานกิเลสอย่างละเอียด ต้องอาศัยปัญญา เรียกว่า สมุจเฉทปหาน หมายถึง การประหานกิเลสได้โดยเด็ดขาด สามารถทำลายอนุสัยกิเลสได้ โดยไม่ทำให้กิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีกเลย

13.3.3 สัมมาทิฏฐิ
– สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นหรือความเข้าใจอันถูกต้อง ถ้าในความหมายในทางโลก หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หากในความหมายทางธรรม หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เช่น เห็นถูกต้องในอริยสัจจ์ 4 ประการ ได้แก่ รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยแบ่งได้ 2 ประการ ได้แก่ โลกียสัมมาทิฏฐิ (ทางโลก) และโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ (เหนือโลก)
– ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ แบ่งได้ 2 ประการ ได้แก่
o ปรโตโฆสะ หมายถึง องค์ประกอบภายนอกที่ช่วยทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ปรโตโฆสะ ได้แก่ เสียงที่ดีงาม เสียงที่ถูกต้อง เสียงที่บอกกล่าวชี้แจงความจริง ความมีเหตุผล มีประโยชน์ เป็นเสียงแห่งความปรารถนาดี สิ่งเหล่านี้เกิดจากแหล่งที่ดี คือ ได้จากบุคคลที่เป็นคนดี มีปัญญา และมีคุณธรรม ที่เรียกว่าสัตบุรุษ หรือบัณฑิต ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำสั่งสอน ชักนำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งรวมเรียกว่า กัลยาณมิตร
o โยนิโสมนสิการ หมายถึง องค์ประกอบภายในที่ช่วยทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ การทำใจโดยแยบคาย ซึ่งการทำใจโดยแยบคายมีความหมายในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่
 อุบายมนสิการ แปลว่า คิดพิจารณาโดยอุบาย ได้แก่ คิดอย่างถูกวิธี คิดให้ถูกวิธีที่จะเข้าถึงความจริง ทำให้รู้สภาพของลักษณะที่เป็นเฉพาะ และเป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย
 ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทางหรือคิดถูกทาง คิดได้อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ สามารถจัดลำดับเป็นขั้นตอน มีความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผล
 การณมนสิการ แปลว่า คิดอย่างเหตุผล สามารถคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาเหตุหรือที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ
 อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล เป็นการคิดอย่างมีเป้าหมาย เช่น พิจารณาสิ่งที่ทำให้หายโกรธ มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็ง
– ความสัมพันธ์ระหว่างปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือ การสร้างเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิต้องอาศัยการเริ่มต้นจากองค์ประกอบภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ นั่นก็คือ กัลยาณมิตร แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงความคิดให้เข้าสู่ระดับภายใน จำเป็นต้องอาศัย โยนิโสมนสิการ ในการดำเนินกระบวนธรรมให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไปจนถึงที่สุด

13.4 การพัฒนาจิตด้วยสติปัฏฐาน 4
13.4.1 แนวคิดของการพัฒนาจิตด้วยสติปัฏฐาน
– สติปัฏฐาน หมายถึง ฐานที่รองรับการกำหนดของสติอย่างประเสริฐ อันเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิปัสสนาปัญญา ซึ่งวิปัสสนานั้นเป็นชื่อของปัญญาที่เห็นความจริงของสภาวธรรม คือ ขันธ์ 5 หรือ รูป-นามตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
– สติปัฏฐานมี 4 อย่าง คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (พิจารณากาย) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (พิจารณาเวทนา) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (พิจารณาจิต) และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (พิจารณาธรรม)
– ความจำเป็นของการพัฒนาจิตด้วยสติปัฏฐาน สติที่ระลึกคือเข้าไปตั้งไว้ที่ธรรมชาติ 4 อย่าง มีกายเป็นต้น เป็นผู้ป้องกันตัณหา วิปัสสนาปัญญาเป็นผู้ละตัณหา เปรียบเหมือนว่า การที่บุคคลจะวิดน้ำในเรือที่รูรั่ว เขาจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อได้อุดรูรั่วเรือเสียก่อน เช่นเดียวกัน การที่วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมาละตัณหาได้สำเร็จ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้เจริญสติปัฏฐาน ทำสติให้เข้าไปตั้งไว้ในกายเป็นต้น เพื่ออุดรูรั่วคือวิปลาสที่กระแสตัณหาจะอาศัยเป็นช่องทางเล็ดลอดเข้าไปเสียก่อนเท่านั้น

13.4.2 การเจริญสติปัฏฐาน
– ความรู้พื้นฐานในการเจริญสติปัฏฐาน
o รู้ทวาร 6 คือ รับรู้อารมณ์ของจิตทางไหน ทางนั้นเรียกว่าทวาร
o รู้อารมณ์ 6 คือ รับรู้สิ่งที่จิตเข้าไปรู้
o รู้ว่าอะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูปทางทวารทั้ง 6
o รู้ว่าจะกำหนดนามอะไร กำหนดรูปอะไร ในทวารทั้ง 6
o รู้วิธีกำหนดหรือการวางใจในอารมณ์นั้น ๆ และรู้เหตุผลของการที่ต้องกำหนดนั้น
– องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการเจริญสติปัฏฐาน ประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่
o ฝ่ายถูกกำหนด หรือ ผู้ถูกดู หมายถึง อารมณ์ที่ถูกกำหนด ได้แก่ กาย เวทนา จิต หรือธรรม
o ฝ่ายดูอารมณ์ หรือ กำหนดรู้อารมณ์ เป็นผู้ทำการงาน ได้แก่ อาตาปี (ความเพียร) สัมปชาโน (ปัญญา) สติมา (สติ) ทั้ง 3 นี้จัดว่าเป็นองค์ของสติปัฏฐาน เรียกว่า โยคาวจร เป็นธรรมชาติที่ร่วมกันทำการงาน
– หลักการฝึกสติปัฏฐาน มี 4 ประการ ได้แก่
o จัดระเบียบในเรือนใจ คือ ต้องมีสติ ความระลึกรู้ในอารมณ์ ซึ่งจะเข้าไปช่วยสะสางและจัดระเบียบให้แก่จิตใจที่เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ด้วยการเฝ้าสังเกตสิ่งที่สลับซับซ้อนในจิตใจ
o เรียกชื่อให้ถูกต้อง ด้วยการเรียนรู้สภาวธรรมความเป็นจริงว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม
o ตรงดิ่งแห่งการมอง คือ เพ่งเล็งในอารมณ์ได้แยบคายถูกต้องตามความเป็นจริงด้วยสัมมาทิฏฐิ และมีโยนิโสมนสิการ
o มีความเนิบช้า เพื่อให้เกิดความสำรวมในการกระทำนั้น ๆ เช่น ในการเคลื่อนไหวอาจต้องช้าลงเล็กน้อย แต่ไม่ทำให้ผิดปกติไป ทั้งนี้ เพื่อให้สติตามทัน

13.4.3 ผลของการเจริญสติปัฏฐาน
– การที่จะแจ้งในพระไตรลักษณ์อันเป็นความจริงของธรรมชาติ 3 ประการ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ได้นั้น ต้องเข้าใจว่าพระไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะของรูปและนาม ถ้าเปรียบไตรลักษณ์เหมือนลวดลายบนตัวเสือ จะเห็นลายเสือได้ต้องดูที่ตัวเสือคือรูปนาม คือการปฏิบัติตามหลักแห่งสติปัฏฐาน
– การที่ไม่เห็นสิ่งซึ่งเป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง 3 ประการคือ พระไตรลักษณ์ได้โดยง่าย เพราะมีสิ่งปิดบังไว้ คือ สันตติ อิริยาบถ และฆนสัญญา ตามลำดับ
o สันตติ หมายถึง การสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วจึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามรูป
o การที่เราเห็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเสมอกับอิริยาบถเก่า ก็เพราะอิริยาบถใหม่นั้นมาปิดบังเอาไว้ เพราะอิริยาบถใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนมานั้นยังไม่มีทุกขเวทนา
o ฆนสัญญา คือ การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของรูปและนาม ซึ่งหมายความว่า การเป็นอยู่รวมกันของสภาวธรรมนั่นเอง จึงทำให้สำคัญผิดว่านามรูปเป็นปึกแผ่น มีสาระ เมื่อความสำคัญในสาระเกิดขึ้น ความสำคัญว่าเที่ยงเป็นสุข เป็นตัวตน หรือมีตัวตนก็เกิดขึ้น
– ผลของการเจริญสติปัฏฐาน มี 7 ประการ ได้แก่
o สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์จากกิเลส
o พ้นจากความโศก
o พ้นจากการเพ้อรำพัน
o สามารถดับทุกข์ที่เกิดทางกาย
o สามารถดับทุกข์ที่เกิดทางใจ
o ยังให้บรรลุพระธรรมวิเศษ
o ยังให้แจ้งในพระนิพพาน

ใส่ความเห็น