หน่วยที่ 8 คัมภีร์ชวดารและคัมภีร์มัญชุสารวิเชียร

หน่วยที่ 8 คัมภีร์ชวดารและคัมภีร์มัญชุสารวิเชียร
8.1 คัมภีร์ชวดาร
8.1.1 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมและลมอัมพฤกษ์ อัมพาต
– สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลม ที่สำคัญ มี 2 ชนิด คือ
o อุทธังคมาวาต พัดขึ้นเบื้องบน
o อโธคมาวาต พัดลงไปจนปลายเท้าเป็นเบื้องต่ำ
– สาเหตุที่ทำให้ลมอุทธังคมาวาตาและลมอโธคมาวาตระคนกัน เนื่องจาก
o บริโภคอาหารให้โทษ 8 ประการ คือ
 กินมากกว่าอิ่ม
 อาหารดิบ
 อาหารเน่า
 อาหารบูด
 อาหารหยาบ
 กินน้อยยิ่งนัก
 กินล่วงผิดเวลา
 อยากเนื้อผู้อื่นยิ่งนัก
– ต้องร้อนและเย็นยิ่งนัก

8.1.2 ลมอันมีพิษ ลมสัตถกะวาตและลมหทัยวาตกำเริบ การรักษาโรคลมและตำรับยาที่ใช้รักษา
– ลมอันมีพิษมี 6 จำพวก คือ 1)ลมกาฬสิงคลี 2) ลมชิวหาสดมภ์ 3) ลมมหาสดมภ์ 4) ลมทักขินโรธ 5) ลมตติยาวิโรธ 6) ลมอีงุ้มอีแอ่น นอกจากลม 6 จำพวกนี้ก็มี 1) ลมอินทรธนู 2) ลมกุมภัณฑยักษ์ 3) ลมอัศมุขี 4) ลมราทธยักษ์ 5) ลมบาดทะจิต 6) ลมพุทธยักษ์ ลมจำพวกเหล่านี้บังเกิดแก่มนุษย์ผู้ใด มนุษย์ผู้นั้นตกเข้าอยู่ในเงื้อมมือพระยามัจจุราช เยียวยาเป็นอันยากนัก
– สาเหตุของสัตถกะวาตและลมหทัยวาตกำเริบ คือ โลหิตให้โทษแก่สตรีคลอดบุตร และชายต้องบาตโลหิตตีขึ้น โลหิตทำพิษตีขึ้น อาศัยลมจึงตีขึ้นไปได้ อุปมาเหมือนคลื่นอันอาศัยลม ลมกล้าแล้วซัดท่วมขึ้นไปบนฝั่งและภูเขา โลหิตจึงเป็นฟอง ดังบุคคลเคี่ยวด้วยเพลิงวันละร้อยละพันหน มีไออันฟุ้งขึ้นไปด้วยกำลังวาโยธาตุ ทำหทัย ดี ตับ ม้าม ให้เศร้าหมอง เชื่อมมึน มีหัวใจระส่ำระสายซบเซา ก็บังเกิดลมสัตถกะวาต ลมหทัยวาตกำเริบ
– การรักษาโรคลม ให้พิจารณาว่าลมนั้นบังเกิด ณ ที่ใด เกิดเพื่อเส้น เนื้อ โลหิต กระดูก ผิวหนัง หัวใจ แล้วจึงพิจารณายาให้ควรแก่โรค
o ถ้าลมเกิดในเส้น ชอบนวดและยาประคบ กินยาแก้ลมในเส้นจึงหาย
o ถ้าลมเกิดแต่โลหิต ให้ปล่อยหมอน้อย (ปลิง) กอกศีรษะ กินยาในทางลม ทางโลหิต จึงหาย
o ถ้าเลมเกิดในผิวหนัง ชอบทายาและรมและกอกลม กินยาในทางลมและรักษาผิวหนังให้บริบูรณ์ จึงหายแล

8.1.3 ลมพิเศษ โทสันฑฆาฏและกล่อนแห้ง สันนิบาตโลหิต การรักษาโรค พยาธิใหญ่น้อย และตำรับยาที่ใช้รักษา
– ลมพิเศษ 10 จำพวก ดังนี้ ลมปถวีธาตุกำเริบ ลมพัดในลำไส้ ลมเข้าในไส้ใหญ่ไส้น้อย ลมบาทาทึก ลมพานไส้ ลมสูบพิษในลำไส้ ลมตุลาราก ลมกระษัยจุกอก ลมกำเดา ลมผูกธาตุให้เป็นพรรดึก
– ลักษณะของโทสันฑฆาฏและกล่อนแห้งทีเกิดกับบุรุษ สตรีก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเป็น มักให้ผูกพรรดึก และลมเสียดแทง ให้เป็นลูก เป็นก้อน เป็นดานในท้อง ให้เมื่อยขบทั่วสรรพางค์ มักให้เจ็บบั้นเอว ให้มือเท้าตายเป็นเหน็บชา มักขัดหัวเหน่า หน้าตะโพกตึงสองราวข้างไปจนตลอดทวารหนัก ปัสสาวะเป็นโลหิต ให้ปวดศีรษะ วิงเวียนหน้าตา ปากเบี้ยว ตาแหก เสียงแห้งเจรจาไม่ค่อยได้ยิน จักษุมืด มือหนัก และจุกเสียด ท้องขึ้น แน่นหน้าอก รับประทานอาหารไม่มีรส โรคทั้งนี้เป็นเพื่อวาตะ เสมหะ โลหิตกำเริบ เมื่อจะเป็นนั้นให้เหม็นเนื้อตัวแล อาหารถอย บางทีให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว มักอยากของเปรี้ยวหวานและเย็น เป็นทั้งนี้เพราะโลหิตแห้งติดกระดูกสันหลัง
– อาการของสันนิบาตโลหิต ให้เจ็บ ให้ไอ ให้เสียงแหบ และเป็นเม็ดดังทรายแต่ลำคอลงไปจนถึงช่องอุจจาระ ปัสสาวะให้คันระคาย บางทีให้ลง บางทีให้ผูก ให้ฟกบวมทั่วสรรพางค์
– ตามหลักแพทย์แผนไทย คำว่า พยาธิใหญ่น้อย หมายความว่า เชื้อโรคหรือจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคทั้งหลาย
o ตัวอย่าง ยาเผาพยาธิใหญ่ เอา รากเจตมูลเพลิงแดง ผลสลอดปูนขาว ดินประสิวขาว เมล็ดในมะนาว หัวดองดึง จุณสี สารปากนก เสมอภาค บดด้วยน้ำมะนาวทา เผาพยาธิใหญ่

8.2 คัมภีร์มัญชุสารวิเชียร
8.2.1 ลม 10 ประการ และตำรับยาที่ใช้
– คัมภีร์มัญชุสารวิเชียร กล่าวถึงลม 10 ประการ มีลักษณะอาการหลักย่อ ๆ ดังนี้ คือ
o ลมทักษิณะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านขวา
o ลมวามะกะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านซ้าย
o ลมกูปะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านล่าง
o ลมโลหะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านบน
o ลมเสลศามะกะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ที่ด้านทรวงอก
o ลมปิตตะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ที่ในท้อง มีน้ำดีซึมอยู่ด้วย
o ลมรัตตะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ที่หน้าขา และโลหิตแตกออกมาด้วย
o ลมกฤตตะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในลำไส้และท้องน้อย ลามไปถึงยอดอก
o ลมทัษฐะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านซ้ายแอบก้อนลมวามะกะคุละมะ
o ลมประวาตะคุละมะ เป็นก้อนเป็นดาน ตั้งอยู่ในท้องด้านขวาแอบก้อนลมทักษิณะคุละมะ
– ลมทั้ง 10 ประการที่กล่าวมานี้ ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วนับว่าเป็นกรรม เพราะยากแก่การรักษายิ่งนัก
– ยาที่ใช้รักษาโรคลม 3 ขนาน ดังนี้
o รักษาลมวามะกะคุละมะ รากหมาก 5 บาท รากมะพร้าว 5 บาท กิ่งเทียนย้อมเล็บ 5 บาท กิ่งทับทิม 2 บาท แก่นฝางเสน 2 บาท จันทน์แดง 2 บาท ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน กินวันละ 3 เวลา ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ครั้งละ 1 แก้ว รักษาลมวามะกะคุละมะ และโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้
o ลมโหะคุละมะ ใช้รากทองพันชั่ง 5 บาท รากหญ้าคา 3 บาท รากหญ้าชันกาด 3 บาท หญ้าปักกิ่ง 5 บาท ต้มตามวิธี กินวันละ 3-5 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะและแก้ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
o ยาแก้ลมปิตตะคุละมะ เอารากมะเดื่อชุมพร รากคนทา รากเท้ายายหม่อม รากน้ำนอง รากคล้า แก่นหนามพรหม ข้าวเย็นทั้ง 2 หนักอย่างละ 4 บาท หัวกระดาดขาว หั่นแช่น้ำเกลือเสียก่อน หนัก 5 บาท ต้มรับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชา เติมเกลือพอเค็ม ๆ วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น แก้ลมปิตตะคุละมะ

8.2.2 โรคมูตร 20 ประการ และตำรับยาที่ใช้
– โรคมูตร 20 ประการ ได้แก่ น้ำปัสสาวะเป็นโลหิต น้ำปัสสาวะเหลืองดังน้ำขมิ้น น้ำปัสสาวะดังน้ำนมโค น้ำปัสสาวะดังน้ำข้าวเช็ด น้ำปัสสาวะดังใบไม้เน่า น้ำปัสสาวะดังหนอง น้ำปัสสาวะไหลซึมไป น้ำปัสสาวะร้อน น้ำปัสสาวะออกขัด น้ำปัสสาวะดังน้ำล้างเนื้อ น้ำปัสสาวะขัดเพราะดีให้โทษ น้ำปัสสาวะขัดเกิดแต่ความเพียรกล้า น้ำปัสสาวะขัดเกิดแต่ไข้ตรีโทษ น้ำปัสสาวะขัดเพราะโรคปะระเมหะให้โทษ น้ำปัสสาวะขัดวันละ 7 เวลา น้ำปัสสาวะขัดวันละ 10 เวลา ไปปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะขัดเพราะเสมหะให้โทษ น้ำปัสสาวะขัดเพราะลมให้โทษ
– ตัวอย่างตำรับยาที่ใช้รักษาโรคมูตร
o ยาแก้โรคมูตร 20 ประการ เบญจกูล ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด มะตูมอ่อน รากขัดหมอน ลูกผักชี แห้วหมู ทั้ง 11 สิ่ง หนักอย่างละ 2 บาท เปล้าน้อย พริกไทย หัวหอม เกลือ ทั้ง 4 สิ่ง หนักอย่างละ 2 สลึง ลูกพิลังกาสา 6 บาท รากพิลังกาสา 12 บาท ยาทั้งหมดนี้ทำเป็นยาหม้อ ต้มตามวิธี 3 เอา 1 รับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร สรรพคุณ แก้ไตพิการ
o ยาแก้ปัสสาวะพิการ เอาขี้เหล็กทั้ง 5 ชุมเห็ดไทยทั้ง 5 เถาวัลย์เปรียง รากหญ้าคา หัวหญ้าชันกาด หัวหวายลิง รากถั่วปีบ หนักอย่างละ 2 บาท ข้าวกล้อง 1 กำมือ สารส้ม 1 บาท ต้มรับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร สรรพคุณ แก้ปัสสาวะเป็นหนอง เป็นแป้งแดงขัด ปวดแสบปวดร้อน
o ยาแก้ปัสสาวะมากเกินไป เอาจันทน์ทั้ง 2 สมอทั้ง 3 สะค้าน ผลกระดอม รากแฝกหอม ลูกผักชี หัวแห้วหมู รากช้าพลู เจตมูลเพลิง หัวข้าวเย็นจีน อ้อยแดง หนักอย่างละเท่า ๆ กัน ต้มรับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร สรรพคุณ แก้ปัสสาวะมากเกินไป

ใส่ความเห็น