หน่วยที่ 13 กรณีตัวอย่างภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยภาคเหนือและภาคอีสาน

13.1   กรณีตัวอย่างภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ

13.1.1        การวินิจฉัยปัญหาสุขภาพของคนล้านนา : กรณีศึกษาผีย่าหม้อนึ่ง

–          ผีย่าหม้อนึ่ง หมายถึง ผีปู่ผีย่าที่อยู่ประจำหม้อนึ่งข้าว พิธีกรรมผีย่าหม้อนึ่งเป็นการเสี่ยงทายเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับสาเหตุการเจ็บป่วย หรือแนวทางการรักษา

–          แนวคิดของผีย่าหม้อนึ่งมีพื้นฐานความเชื่อในเรื่องผีบรรพชน โดยมีวิธีการหลัก ๆ ในการวินิจฉัยปัญหาสุขภาพเป็น 5 วิธี ได้แก่

  • การดูลักษณะอาการและท่าทาง
  • การสอบถาม/สอบประวัติเพื่อหาสาเหตุของอาการหรือโรค โดยเชื่อมโยงกับความเชื่อในเรื่องของกรรมหรือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพด้วย
  • การสัมผัสจับต้อง
  • การคำนวณอายุและธาตุ
  • การเสี่ยงทาย

–          ประโยชน์และคุณค่าของภูมิปัญญา ผีย่าหม้อนึ่งยังคงมีคุณค่าในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ให้ความหวัง หรือเตรียมจิตใจเพื่อยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

13.1.2        การสู่ขวัญ

–            การสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมด้านสุขภาพที่ชาวล้านนาใช้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยชาวล้านนาเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยรูปที่เป็นร่างกายเรียกว่า ธาตุ และนามหรือจิตใจเรียกว่า ขวัญ ซึ่งเป็นส่วนควบคุมร่างกาย

–          ความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องขวัญว่า มีประจำอยู่ตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะสัมพันธ์กับการดำรงสภาพของร่างกาย ถ้าร่างกายเจ็บป่วยขวัญจะอ่อนแอ จำเป็นต้องสู่ขวัญ เพื่อรับขวัญ ซึ่งเป็นแนวทางรักษา

–          ขั้นตอนการสู่ขวัญ ประกอบด้วย การเตรียมบายศรี เตรียมขันครู การกล่าวโวหาร ป้อนข้าวขวัญ มัดข้อมือ ฝากข้าวขวัญกับปู่ดำย่าดำ

–          ประโยชน์และคุณค่าของภูมิปัญญา เป็นองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกาย จิต และสิ่งแวดล้อม โดยช่วยให้รักษาสุขภาพจิต สร้างขวัญกำลังใจทั้งผู้ป่วยและญาติ สร้างสัมพันธ์ในหมู่ญาติมิตรและผู้มาเยือน

 

13.1.3        การย่ำขาง

–          การย่ำขาง เป็นวิธีบำบัดรักษาอาการทางกายวิธีหนึ่งของระบบการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ส่วนมากใช้ในการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอ็น ปวดข้อ กระดูก ชา อัมพฤกษ์ โดยการใช้เท้าชุบน้ำยา (น้ำไพล หรือน้ำมันงา) ไปย่ำขาง (โลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็น ใบขาง/ใบไถ สำหรับไถนา หรือหม้อขาง/กระทะ) ที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงเอาเท้าไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่เกิดพยาธิสภาพ โดยใช้คาถาร่วมด้วย

–          ขั้นตอนการวินิจฉัย

  • การตั้งขันถาม เป็นการยกขันตั้งหรือขันครู เพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย
  • การเกลือกไข่ เป็นวิธีการวินิจฉัย โดยใช้ไข่ไก่ดิบแช่ในน้ำมนต์ (น้ำส้มป่อยที่เสกคาถา) แล้วนำไปเช็ดหรือเกลือกบริเวณที่มีอาการ
  • การตั้งไข่ เป็นวิธีการวินิจฉัยที่กระทำต่อจากการเกลือกไข่เพื่อสนับสนุนคำตอบของการเกลือกไข่
  • การกุ๋ยเทียน (หมายถึง การขว้างเทียนเพื่อเสี่ยงทาย) เป็นวิธีการวินิจฉัยที่กระทำต่อจากการตั้งไข่ เพื่อยืนยันสาเหตุอีกครั้ง

–          กลุ่มอาการหรือโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการย่ำขาง ได้แก่

  • กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นกลุ่มอาการที่พบมากที่สุด
  • กลุ่มอาการชา ที่มักเกิดที่มือ เท้า แขน ขา เอว
  • กลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต

–          ข้อห้ามในการย่ำขาง จะไม่รักษาผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีประจำเดือน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหม่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยมะเร็งและโรคปอดเพราะความร้อนจะทำให้มะเร็งกระจายตัวได้ดีขึ้น ผู้ป่วยโรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้สูง นอกจากนี้ผู้ที่รับการรักษาด้วยการย่ำขางต้องระวังเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ โดยอาหารที่ห้ามรับประทาน ได้แก่ ไข่ เนื้อวัว เนื้อควาย สัตว์ปีก ของดอง ของทะเล ปลาไหล ปลาไม่มีเกล็ด กบ ผักชะอม ฟักเขียว หน่อไม้ บอน และทุเรียน

 

13.2   กรณีตัวอย่างภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคอีสาน

13.2.1        หมอลำผีฟ้า

–          หมอลำผีฟ้า หมายถึง หมอลำที่ติดต่อกับผีฟ้า เป็นพิธีกรรมเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยหมอลำเป็นผู้รักษาที่มีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยเนื่องจากอยู่ในชุมชน วัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน โดยถ่ายทอดออกมาในบทลำกลอน การปลุกเร้าของเสียงดนตรี เป็นต้น

–          ประโยชน์และคุณค่าภูมิปัญญาหมอลำผีฟ้า  ช่วยให้ชาวอีสานดำรงอยู่ในความดี กตัญญูรู้คน มีความสามัคคี มีพลังในการต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บ รักษาสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข

 

13.2.2        การอยู่กรรมหรือการอยู่ไฟของคนอีสาน

–          การอยู่กรรมหรือการอยู่ไฟ เป็นวิธีการปฏิบัติตนของหญิงหลังคลอดที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตามวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำให้แม่ลูกอ่อนมีสุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณดี มดลูกเข้าอู่ไว

–          ขั้นตอนการอยู่กรรม ทำพิธีดับพิษไฟ ทำการเข้าขื่อ ดับพิษร้อน การปฏิบัติตัวขณะอยู่กรรม (ย่างตัวและกินน้ำร้อน)

–          สมุนไพรที่ใช้ดื่มและอาบ นิยมใช้แก่นมะขามต้มอาบ และใช้ต้นนมสาว เครือฮวงสุ่ม แก่นมะเฟืองส้ม ต้มสำหรับดื่ม โดยเชื่อว่า แก่นขามบำรุงหัวใจ นมสาวบำรุงน้ำนม รักษามดลูก และแก้ของแสลง ฮวงสุ่มบำรุงเลือด แก่นมะเฟืองขับเลือดเสีย บำรุงเลือด และทำให้เลือดลมดี

–          ข้อปฏิบัติ และข้อห้ามในการอยู่กรรม ได้แก่

  • หญิงที่อยู่กรรมจะต้องนั่ง และปฏิบัติกิจในเรือนกรรมตลอด
  • การอาบน้ำ และดื่มน้ำให้เป็นน้ำร้อนสมุนไพร
  • อาหารกินข้าวกับเกลือ (เกลือก้อนกับกระทะ)
  • ฟืนที่ใช้ก่อไฟ คือ ไม้จิต หรือไม้มะขาม ไม้แก ส่วนมากเป็นไม้ที่เมื่อสุมไฟแล้วไม่แตกเป็นสะเก็ดไฟ
  • ห้ามกลับหัวกลับหางต้นฟืน ก่อนคลอดห้ามนำฟืนเข้าบ้านเด็ดขาด
  • อาหารที่ห้ามเด็ดขาด (อาหารแสลงเรียกว่า คะลำ) คือ นก หนู อาหารทะเลทุกชนิด ผักที่มีกลิ่นแรง เช่น ชะอม เพราะจะทำให้ผิดสำแดง โดยทั่วไปจะห้ามอาหารคาวและมีกลิ่นแรง สามารถกินปลาได้

–          การออกกรรม เมื่อครบกำหนดออกไฟ คือ ออกจากอยู่กรรม จะทำพิธี เสียพิษไฟ คือ การทำพิธีถอนพิษไฟและตัดหางใบตองกล้วย ปิดฝาหม้อกรรม แล้วคว่ำหม้อ เป็นสัญลักษณ์ถือว่า การอยู่กรรมได้สิ้นสุดลง

–          พิธีสำหรับเด็กคลอดใหม่ ได้แก่ การอาบน้ำเด็ก การฮ่อนกระด้ง (การร้อนกระด้ง) การนอนอู่

 

ใส่ความเห็น